พระราชบัญญัติ สหกรณ์ พ.ศ.2542


................................................................................................................
** ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2542 เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศ
ว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการ
เกี่ยวกับ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 45
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่ง
กฎหมายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา
ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
               (1) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511
               (2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2515
               (3) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 247 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2515
               (4) พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2524
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ 
              "สหกรณ์"หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
และสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ 
               "สมาชิก" หมายความว่า สมาชิกของสหกรณ์ หรือสมาชิกลุ่มเกษตรกร 
               "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ 
               "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ 
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ 
และให้มีอำนาจแต่งตั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตาม
พระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1
::: บททั่วไป
..........................................................................................................................................
มาตรา 6 ถ้าสหกรณ์เกี่ยวข้องในกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสำหรับการได้มา
การจำหน่าย การยก ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือการยึดหน่วงซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือ
ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 
การจดทะเบียนเช่นว่านั้นให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากสหกรณ์และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ใช้คำว่า "สหกรณ์"
เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อในทางธุรกิจ
มาตรา 8 ทุนกลางของบรรดาสหกรณ์ไม่จำกัดตามมาตรา 61 (2) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดการฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 
หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือฝากไว้ที่สถาบันการเงินอื่นใด โดยได้รับความ
เห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ หรือลงทุนตามระเบียบที่กระทรวงเกษตร
และสหกรณ์กำหนดดอกผลที่เกิดขึ้นจากทุนกลางให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจ่ายขาด
ให้แก่สันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย เพื่อใช้จ่ายในกิจการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 110